Thursday, August 28, 2008

ภาวะโลกร้อน

าวะโลกร้อน : ผลกระทบต่อประเทศไทย ภาวะโลกร้อน มีผลต่อการอยู่รอดของสิ่งมีชีวิต เนื่องจากอุณหภูมิสูงขึ้นทำให้ฤดูกาลต่าง ๆ เปลี่ยนแปลง สิ่งมีชีวิตที่ไม่สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ ก็จะค่อย ๆ ตายลง ผลต่อมนุษย์เมื่ออุณหภูมิที่สูงขึ้น อาจทำให้บางพื้นที่กลายเป็นทะเลทราย ประชาชนขาดแคลนอาหารและน้ำดื่ม แต่บางพื้นที่ประสบปัญหาน้ำท่วมหนัก เนื่องจากฝนตกรุนแรงขึ้น น้ำแข็งขั้วโลกและบนยอดเขาสูงละลาย ทำให้ปริมาณน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น พื้นที่ชายฝั่งทะเลได้รับผลกระทบบางพื้นที่อาจจมหายไปอย่างถาวร งานวิจัยเนื้อหากว่า 1,000 หน้า จากนักวิทยาศาสตร์กว่า 700 คน เกี่ยวกับกรณีภาวะโลกร้อนจะแตกต่างกันในแต่ละประเทศแต่ละส่วนของโลก
1. ผลกระทบด้านนิเวศวิทยา แถบขั้วโลกได้รับผลกระทบมากสุดและก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งภูเขาน้ำแข็ง ก้อนน้ำแข็งจะละลายอย่างรวดเร็ว ทำให้ระดับน้ำทะเลทางขั้วโลกเพิ่มขึ้น และไหลลงสู่ทั่วโลกทำให้เกิดน้ำท่วมได้ทุกทวีป นอกจากนี้จะพลอยทำให้สัตว์ทางทะเลเสียชีวิตเพราะระบบนิเวศเปลี่ยนแปลง ส่วนทวีปยุโรป ยุโรปใต้ภูมิประเทศจะกลายเป็นพื้นที่ลาดเอียงเกิดความแห้งแล้ง ในหลายพื้นที่ปัญหาอุทกภัยจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากธารน้ำแข็งบนบริเวณยอดเขาสูงที่ปกคลุมด้วยหิมะจะละลายจนหมด ขณะที่เอเชียอุณหภูมิจะสูงขึ้นเกิดฤดูกาลที่แห้งแล้ง มีน้ำท่วม ผลิตผลทางอาหารลดลง ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น สภาวะอากาศแปรปรวนอาจทำให้เกิดพายุต่าง ๆ มากมายเข้าไปทำลายบ้านเรือนที่อยู่อาศัยของประชาชน ซึ่งปัจจุบันก็เห็นผลกระทบได้ชัดไม่ว่าจะเป็นใต้ฝุ่นกก แต่แถบทวีปอเมริกาเหนืออุตสาหกรรมการผลิตอาหารจะได้รับผลประโยชน์เนื่องจากอากาศที่อุ่นขึ้น พร้อม ๆ กับทุ่งหญ้าใหญ่ของแคนาดาและทุ่งราบใหญ่สหรัฐอเมริกาจะล้มตายเพราะความแปรปรวนของอากาศส่งผลต่อสัตว์ สำหรับประเทศไทยมีอุณหภูมิสูงขึ้นประมาณ 1 องศาเซลเซียส ในช่วง 40 ปี อย่างไรก็ตาม หากอุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้น 2- 4 องศาเซลเซียส จะทำให้พายุไต้ฝุ่นเปลี่ยนทิศทาง เกิดความรุนแรงและมีจำนวนเพิ่มขึ้นร้อยละ 10-20 ในอนาคต นอกจากนี้ ฤดูร้อนจะขยายเวลายาวนานขึ้น ในขณะที่ฤดูหนาวจะสั้นลง อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกที่เพิ่มสูงขึ้น จะทำให้การระเหยของน้ำทะเล มหาสมุทร แม่น้ำ ลำธาร และทะเลสาบเพิ่มมากขึ้น ยิ่งจะทำให้ฝนตกมากขึ้น และกระจุกตัวอยู่ในบางบริเวณ ทำให้เกิดอุทกภัย ส่วนบริเวณอื่นๆก็จะเกิดปัญหาแห้งแล้ง เนื่องจากฝนตกน้อยลง กล่าวคือ พื้นที่ภาคใต้จะมีฝนตกชุก และเกิดอุทกภัยบ่อยครั้งขึ้น ในขณะที่ภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ ต้องเผชิญกับภัยแล้งมากขึ้น รูปแบบของฝนและอุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลงไปทำให้วัฏจักรของน้ำเปลี่ยนแปลง ลักษณะการไหลของระบบน้ำผิวดิน และระดับน้ำใต้ดินก็จะได้รับผลกระทบด้วย ทั้งพืชและสัตว์จึงต้องปรับปรุงตัวเองเข้าสู่ระบบนิเวศที่เปลี่ยนไป ลักษณะความหลากหลายทางชีวภาพก็จะเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย ระบบนิเวศทางทะเล ก็เป็นอีกระบบนิเวศหนึ่งที่จะได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อน เนื่องจากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น และอุณหภูมิผิวน้ำที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้พืชและสัตว์ทะเลบางชนิดสูญพันธุ์ รวมถึงการเกิดปรากฏการณ์ปะการังฟอกสีทั้งในอ่าวไทยและฝั่งทะเลอันดามัน 2. ผลกระทบด้านเศรษฐกิจ รัฐที่เป็นเกาะเล็ก ๆ ของทวีปอเมริกาจะได้รับผลจากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นกัดกร่อนชายฝั่ง จะสร้างความเสียหายแก่ระบบนิเวศ แนวปะการังจะถูกทำลาย ปลาทะเลประสบปัญหา เนื่องจากระบบนิเวศที่แปรเปลี่ยนไป ธุรกิจท่องเที่ยวทางทะเลที่สำคัญจะสูญเสียรายได้มหาศาล ในเอเชียยังมีโอกาสร้อยละ 66-90 ที่อาจเกิดฝนกระหน่ำและมรสุมอย่างรุนแรง รวมถึงเกิดความแห้งแล้งในฤดูร้อนที่ยาวนาน ภาวะโลกร้อนที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้น ส่งผลกระทบทางอ้อมต่อความมั่นคงทางสังคมและเศรษฐกิจของประเทศชาติ เนื่องจากความเสียหายต่างๆที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการสูญเสียพื้นที่เกษตรกรรมที่สำคัญตามแนวชายฝั่งที่ยุบตัว ภัยธรรมชาติ และความเสียหายที่เกิดจากเหตุการณ์ธรรมชาติที่รุนแรง ล้วนส่งผลให้ผลิตผลทางการเกษตร ซึ่งเป็นสินค้าออกหลักของประเทศมีปริมาณลดลง พื้นที่ที่คุ้มค่าแก่การป้องกันในเชิงเศรษฐกิจ และพื้นที่ที่มีการพัฒนาสูง อาจได้รับการป้องกันล่วงหน้า เช่น นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จำต้องมีโครงสร้างป้องกันกระแสคลื่น ซึ่งจะรุนแรงขึ้นเมื่อน้ำทะเลสูงขึ้น หรือการสร้างกำแพงกั้นน้ำทะเลหรือเขื่อน เพื่อป้องกันการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำทางการเกษตร และการทำนาเกลือ เป็นต้น ทั้งนี้ ในปี 2532-2545 ประเทศไทยเกิดความเสียหายจากอุทกภัย พายุ และภัยแล้ง คิดเป็นมูลค่าเสียหายทางเศรษฐกิจมากกว่า 70,000 ล้านบาท 3. ผลกระทบด้านสุขภาพ เดวิท พิเมนเทล นักนิเวศวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยคอร์ แนลในอเมริกา ระบุว่าโลกร้อนขึ้นจะก่อให้เกิด สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมแก่การฟักตัวของเชื้อโรคและศัตรูพืช ที่เป็นอาหารของมนุษย์บางชนิด โรคที่ฟักตัวได้ดีในสภาพร้อนชื้นของโลก จะสามารถเพิ่มขึ้นมากในอีก 20 ปีข้างหน้า ทั้งจะมีการติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นในโรคมาลาเรีย ไข้ส่า อหิวาตกโรค และอาหารเป็นพิษนักวิทยาศาสตร์ในที่ประชุมองค์การอนามัยโลก และ London School of Hygiene and Tropical Medicine วิทยาลัยศึกษาด้านสุขอนามัยและเวชศาสตร์เขตร้อนของอังกฤษ แถลงว่า ในแต่ละปีประชาชนราว 160,000 คนเสียชีวิตเพราะได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อน ตั้งแต่โรคมาลาเรีย ไปจนถึงการขาดแคลนสุขอนามัยที่ดี และตัวเลขผู้เสียชีวิต นี้อาจเพิ่มขึ้นเกือบสองเท่าตัวในอีก 17 ปีข้างหน้า แถลงการณ์ของคณะแพทย์ระดับโลกระบุว่า เด็กในประเทศกำลังพัฒนาจัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงมากที่สุด เช่นในประเทศแถบแอฟริกา ละตินอเมริกา และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่จะต้องเผชิญกับการแพร่ขยายของการขาดแคลนสุขอนามัยโรคท้องร่วง และโรคมาเลเรีย ท่ามกลางอุณหภูมิโลกร้อนขึ้น น้ำท่วม และภัยแล้ง อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกที่เพิ่มสูงขึ้นและเหตุการณ์ตามธรรมชาติที่รุนแรงและเกิดบ่อยครั้งส่งผลกระทบโดยตรง ต่อสุขภาพและอนามัยของคนไทย โรคระบาดที่สัมพันธ์กับการบริโภคอาหารและน้ำดื่ม มีแนวโน้มว่าจะเพิ่มสูงมากขึ้น โดยภัยธรรมชาติ เช่น ภาวะน้ำท่วมทำให้เกิดการปนเปื้อนของเชื้อโรคในแหล่งน้ำ ไม่ว่าจะเป็น โรคบิด ท้องร่วง และอหิวาตกโรค เป็นต้น โรคติดต่อในเขตร้อนก็มีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้น และจะคร่าชีวิตผู้คนเป็นจำนวนมากเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะ ไข้มาลาเรีย ซึ่งมียุงลายเป็นพาหะ เนื่องจากการขยายพันธุ์ของยุงจะมากขึ้นในสภาวะแวดล้อมที่ร้อนขึ้นและฤดูกาลที่ไม่แน่นอน แนวโน้มของผลผลิตทางการเกษตรที่ลดลงจากภัยธรรมชาติ อาจนำไปสู่ภาวะขาดแคลนอาหาร และความอดอยาก ทำให้เกิดภาวะขาดสารอาหาร และภูมิต้านทานร่างกายต่ำ โดยเฉพาะในเด็กและคนชรา
ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาสำนักข่าวต่างประเทศได้รายงานว่า คลื่นความร้อนปกคลุมบริเวณภาคตะวันออกของสหรัฐ จนทำให้มีผู้เสียชีวิตถึงกว่า 160 ราย ในพื้นที่รัฐแคลิฟอร์เนีย นอกจากนี้คลื่นความร้อนยังส่งผลให้เมืองใหญ่หลายเมืองไม่ว่าจะเป็น นิวยอร์ก ชิคาโก บัลติมอร์ วอชิงตัน บอสตัน ฟิลาเดลเฟียไปจนถึงแอตแลนตา ล้วนแต่ต้องเผชิญกับอุณหภูมิสูงเกือบ 40 องศาเซลเซียส ซึ่งคลื่นความร้อนดังกล่าว ส่งผลให้ประชาชน ใช้พลังงานไฟฟ้าสูงจากเครื่องปรับอากาศปรากฏการณ์ความแปรปรวนของสภาวะอากาศอย่างสุดขั้วในทางวิทยาศาสตร์ ระบุว่าสภาพเช่นนี้เป็น “ภาวะโลกร้อน” ซึ่งเป็นภาวะที่อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มขึ้นจากปรากฎการณ์เรือนกระจก หรือที่เรารู้จักกันดีในชื่อว่า Green house effect ซึ่งมีต้นเหตุจากการที่มนุษย์ ได้เพิ่มปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และก๊าซอื่น ๆ ที่มีคุณสมบัติดักจับความร้อนออกไปยังบรรยากาศของโลก ก๊าซเหล่านี้จะรวมตัวกันจนกลายเป็นผ้าห่มหนา ๆ ดักจับความร้อนของดวงอาทิตย์ รวมทั้งการตัดไม้ทำลายป่าจำนวนมหาศาลเพื่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกให้แก่มนุษย์ ทำให้กลไกในการดึงเอาก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกไปจากระบบบรรยากาศถูกลดทอนประสิทธิภาพลง และในที่สุดสิ่งต่างๆที่มนุษย์ได้กระทำต่อโลกได้หวนกลับมาสู่ตัวของเราเองในลักษณะของ
ภาวะโลกร้อนปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดสภาวะโลกร้อน ขึ้นนั้นมีมูลเหตุมาจากการปล่อยก๊าซพิษต่าง ๆ จากโรงงานอุตสาหกรรม ทำให้แสงอาทิตย์ส่องทะลุผ่านชั้นบรรยากาศมาสู่พื้นโลกได้มากขึ้น ซึ่งเป็นที่รู้จักกันโดยเรียกว่า ปรากฎการณ์เรือนกระจกก๊าซเรือนกระจกที่สำคัญ 6 ชนิด ที่จะต้องลดการปล่อยได้แก่ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ( CO2) ก๊าซมีเทน ( CH4) ก๊าซไนตรัสออกไซด์ ( N2O) ก๊าซไฮโดรฟลูโรคาร์บอน ( HFCS) ก๊าซเปอร์ฟลูโรคาร์บอน ( CFCS) และก๊าซซัลเฟอร์เฮกซ่าฟลูโอโรด์ ( SF6 ) จากเนื้อความในหนังสือและภาพยนต์สารคดี An Inconvenient Truth (ความจริงที่ไม่มีใครอยากรับรู้) ซึ่งจัดทำขึ้นโดย อัล กอร์ อดีตรองประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ผู้ผันตัวมาเป็นนักรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมเต็มตัว สะท้อนความเปลี่ยนแปลงภูมิศาสตร์ที่โลกต้องตะลึง อัล กอร์ บอกไว้ว่า กรณีทะเลอารัลบอกเล่าเรื่องราวง่ายๆ ที่ว่าการไม่คำนึงถึงธรรมชาติอาจก่อให้เกิดผลกระทบใหญ่หลวง ตัวอย่างเรื่องการพัฒนาระบบชลประทานอาจก่อผลกระทบที่เราคาดไม่ถึง เมื่อมนุษย์มีอำนาจพอที่จะปรับเปลี่ยนสภาพแม่น้ำได้ จากการที่มนุษย์ผันน้ำมาใช้มากเกินไป โดยไม่ใส่ใจธรรมชาติ ส่งผลให้แม่น้ำบางสายไม่สามารถไหลลงสู่ทะเลได้อีกต่อไป การชลประทานปรับเปลี่ยนแม่น้ำอันยิ่งใหญ่ได้ตามแต่ใจเรา โดยไม่ไยดีกับธรรมชาติ เป็น กรณีเดียวกันกับที่สหภาพโซเวียตผันน้ำของแม่น้ำใหญ่สองสายจากเอเชียกลาง ได้แก่ แม่น้ำอมูดาร์ยา และไซร์ดาร์ยา ที่เคยหล่อเลี้ยงทะเลอารัล นำไปใช้ในการชลประทานไร่ฝ้าย ที่สุดทะเลอารัลก็เหือดแห้ง เหลือเป็นเพียงอนุสรณ์สถานแก่โลกปัจจุบัน ยืนยันได้ว่า แม้ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะมีคุณูปการมากมายต่อมนุษย์ แต่ก็สร้างผลกระทบมหันต์เช่นกัน และเป็นมหันตภัยที่มาจากภาวะ"โลกร้อน" ที่คุกคามโลกมนุษย์ในขณะนี้

นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า ปี 2005 คือปีที่โลกมีอุณหภูมิร้อนที่สุดเท่าที่เคยมีการวัดอุณหภูมิในชั้นบรรยากาศ เป็นสิบปีที่ถือว่ามีอากาศร้อนที่สุด เท่าที่เคยมีมานับแต่ปี 1990 ในฤดูร้อนปี 2005หลายร้อยเมือง ในอเมริกามีอากาศร้อนสูงระดับทำลายสถิติ ตลอด 50 ปีที่ผ่านมา อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มสูงขึ้นในอัตราที่รวดเร็วที่สุดในประวัติศาสตร์ ในปี 2003 คลื่นความร้อนทำให้คนในยุโรปเสียชีวิตถึง 30,000 ศพ และในอินเดีย มีผู้เสียชีวิตไป 1,500 ศพ นับแต่ปี พ.ศ. 2521 ทะเลน้ำแข็งที่ขั้วโลกลดปริมาณลง 9 เปอร์เซ็นต์ต่อทุกสิบปี ด้วยระดับการละลายตัวในปัจจุบัน รวมถึงหิมะที่เทือกเขาคิลิมันจาโรอาจจะหมดไปในปี 2020 เทือกเขาดังกล่าวอยู่ทางตอนบนของประเทศแทนซาเนีย ติดกับประเทศเคนยา เป็นหนึ่งในภูเขาไฟลูกที่ใหญ่สุดในโลก เป็นเทือกเขาที่สูงในทวีปแอฟริกาจนเรียกขานว่า “หลังคาแห่งกาฬทวีป” จากสัญญาณดังกล่าว นำพาไปสู่การทำนายผลกระทบ ต่าง ๆ เมื่ออุณหภูมิโลกสูงขึ้น โดยมีการคาดเดาว่าภาวะโลกร้อนจะเพิ่มความรุนแรงของพายุเฮอริเคน ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา พายุเฮอริเคนระดับ 4 และ 5 เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว เพราะน้ำในมหาสมุทรร้อนขึ้น พายุฤดูร้อนสามารถเพิ่มกำลังมากขึ้น และกลายเป็นพายุที่มีพลังมากขึ้นถึงแม้พายุรุนแรงจะก่อให้เกิดน้ำท่วมในหลายพื้นที่ แต่ความแห้งแล้งและไฟป่ายังคง เพิ่มสูงขึ้นในอีกหลายพื้นที่ เกาะที่ต่ำจะไม่สามารถอยู่อาศัยได้อีก ต่อไป อันเนื่องมาจากระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้น ป่า, ฟาร์ม และเมืองทั้งหลายจะต้องเผชิญหน้ากับสัตว์รบกวนที่สร้างปัญหา รวมถึงเชื้อโรคร้ายที่เกิดจากยุงเป็นพาหะมีจำนวนมากขึ้น การทำลายถิ่นอาศัยของสัตว์อย่างเช่นแนวปะการัง และทุ่งหญ้าอาจทำให้พืชและสัตว์หลาย สายพันธุ์สูญพันธุ์ไป !!! ขณะที่ประเทศไทย มีปรากฏการณ์ด้านโลกร้อนเกิดขึ้นให้เห็นแล้ว ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการศูนย์เครือข่ายงานวิเคราะห์และฝึกอบรมการเปลี่ยนแปลงของโลกแห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ระบุว่า จากการสำรวจล่าสุดพบว่าระดับน้ำทะเลในอ่าวไทยเพิ่มขึ้น 1-2 มิลลิเมตรต่อปี ยังอยู่ในระดับปกติ แต่ในทะเลฝั่งอันดามัน สูงขึ้น 8-12 มิลลิเมตรต่อปี มีผลอย่างมากต่อการกัดเซาะชายฝั่ง เนื่องจากที่ผ่านมาปริมาณน้ำทะเลที่สูงเพียง 50 เซนติเมตร สามารถกัดเซาะชายฝั่งได้อย่างรุนแรง ความแปรปรวนของอากาศ ปริมาณฝนที่ตกมากกว่าปกติ แต่ทิ้งช่วงผิดธรรมดา ทำให้เกิดภัยแล้งและอุทกภัยอย่างร้ายแรงกว่าที่เคยประสบมานั้น คือหนึ่งในปรากฏการณ์ที่เตือนเราว่านี่คือการคุกคามของ Global warming อย่างชัดเจนแล้ว และกำลังจะร้ายแรงมากขึ้นทุกขณะ ปีสองปีที่ผ่านมา ภาวะแห้งแล้งผิดธรรมชาติในไทยเกิดขึ้นในกว่า 65 จังหวัด พื้นที่เกษตรกรรมได้รับความเสียหายกว่า 10 ล้านไร่...นั่นก็คือจากปรากฏการณ์ "เอลนีโญ" อันเป็นส่วนหนึ่งของภาวะโลกร้อน ปีที่แล้วน้ำท่วมหนัก ดินถล่มอย่างรุนแรงที่อุตรดิตถ์ แพร่ สุโขทัย ลำปาง และน่าน ก็เพราะมีปริมาณน้ำฝนที่ตกหนักอย่างไม่เคยเห็นมาก่อน...นั่นคือปรากฏการณ์ "ลานีญา" ซึ่งทำให้เกิดความเสียหายทันทีกว่า 1 พันล้านบาท ที่สมุทรปราการ มีตัวอย่างของ global warming ที่มีผลกระทบต่อไทยอย่างชัดเจนแล้ว คือชายฝั่งถูกกัดเซาะอย่างหนักหน่วงเพราะแผ่นดินทรุด น้ำทะเลสูงขึ้น คลื่นลมทะเลแรงขึ้นทุกวัน...ที่นั่น พื้นที่ตลอดแนวชายฝั่งหายไปแล้วกว่า 11,000 ไร่ ทำให้ชาวบ้านต้องย้ายบ้านถึง 4-5 ครั้ง ผู้เชี่ยวชาญไทยที่ติดตามเรื่องนี้บอกว่าถ้าเราไม่ทำอะไรเลย อีก 20 ปีข้างหน้า หรือเร็วกว่านั้น พื้นที่ชายฝั่งจะถูกกลืนหายไป 10.5 กิโลเมตร และถึงวันนั้น ที่ตั้งของสนามบินสุวรรณภูมิวันนี้ก็จะอยู่ห่างจากชายฝั่งทะเลเพียงแค่ 6 กิโลเมตรเท่านั้น นอกจากนี้ ยังมีการคาดการณ์กันว่าอีก 100 ปีข้างหน้าหรือในปี พ.ศ. 2643 อุณหภูมิ จะสูงขึ้นจากปัจจุบัน 4.5 องศาเซลเซียส สภาวะโลกร้อนที่เริ่มมีสัญญาณบ่งชี้ใหม่เกิดขึ้นทุกปี

No comments: